เกี่ยวกับสหกิจ

ความเป็นมาของสหกิจศึกษา

การจัดการศึกษาแบบสหกิจศึกษา (Co-operative Education) เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วมกับการจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิตในฐานะพนักงานชั่วคราว ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ นักศึกษาที่เลือกเรียนรายวิชาสหกิจศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการไปปฏิบัติงาน ทำให้ได้รับทราบด้วยตนเองว่าขาดความรู้ในเรื่องใดที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาตนในการอยู่ร่วมกับสังคม การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อผู้ร่วมงาน และผู้บริหาร รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความรู้เหล่านี้นำมาซึ่งการพัฒนาตนเองของนักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา และทำให้นักศึกษาเหล่านี้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ สามารถมองเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ และเป็นประชากรที่ทรงคุณค่าของสังคมและประเทศชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำสหกิจศึกษามาช่วยพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยการจัดทำโครงการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาขึ้น เพราะเล็งเห็นว่า โครงการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานี้ เป็นโครงการที่สามารถพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและตลาดแรงงาน ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้

ดังนั้น เพื่อให้การผลิตบัณฑิตของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะฯ จึงเห็นสมควรให้มีการโครงการพัฒนาสหกิจศึกษาขึ้นในหลักสูตรของคณะฯ โดยดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องในโครงการฯ ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา และเพื่อให้การบริหารจัดการงานสหกิจศึกษาของคณะฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะฯ จึงได้จัดทำคู่มือสหกิจศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาระบบสหกิจศึกษาของคณะฯ ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น